Last updated: 27 พ.ค. 2563 | 2041 จำนวนผู้เข้าชม |
หลังให้คีโม (เคมีบำบัด) ต้องดูแลตนเองอย่างไร
ปัจจุบันวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือการให้คีโม หรือการใช้ยาเคมีบำบัด เพื่อเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในตัวคนไข้ ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินเรื่องผลข้างเคียงจากการให้ยาเคมีบำบัดกันมาบ้างแล้ว ทำให้ผู้ป่วยมักเกิดความวิตกกังวล เพื่อให้ผู้ป่วยและคนทั่วไปเข้าใจในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น จึงได้อธิบายถึงการรักษาด้วยวิธีการใช้ยาเคมีบำบัดไว้ดังนี้
การให้คีโมหรือเคมีบำบัด คืออะไร?
เคมีบำบัด คือ การนำสารเคมีหรือยามาใช้ในการรักษามะเร็ง ยาเหล่านี้ถือว่าเป็นยาต่อต้านมะเร็ง คีโม หรือ คีโมเทอราปี (Chemotherapy) นั้นคือกลุ่มสารเคมีที่มีฤทธิ์ยับยั้งและทำลายเซลล์ที่มีอัตราการเติบโตหรือแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว
ซึ่งยาแต่ละตัวออกฤทธิ์แตกต่างกัน ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอาจให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว บางแผนการรักษาประกอบด้วยยาหลายชนิดที่ให้ร่วมกัน หรือให้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นเมื่อให้ยาเคมีบำบัดเข้าสู่ร่างกายจะไปทำลายเซลล์มะเร็ง เเละทำลายเซลล์ปกติบางส่วนทำให้มีผลกระทบต่อเซลล์ปกติด้วย โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการเจริญและแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร, เม็ดเลือด, เส้นผม และระบบสืบพันธุ์ (รังไข่, ลูกอัณฑะ) ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุของอาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ระยะหนึ่งในระหว่างการให้ยาแต่ละชุด เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์เส้นผม เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร เป็นต้น เราจึงได้ยินถึงผลข้างเคียงจากการได้รับยาเคมีบำบัด เช่น อาการผมร่วง อ่อนเพลีย ท้องเสียง่าย
คนไข้จำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัดทุกคนหรือไม่
คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาด้วยวิธีการให้ยาเคมีบำบัดเสมอไป ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามะเร็งเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย แม้แต่ในอวัยวะเดียวกันก็มีสิทธิ์ที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งต่างชนิดกัน รูปแบบการรักษาก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น คนไข้แต่ละคนจึงอาจจะได้รับการรักษาในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การให้ยาเคมีบำบัดได้เช่นกัน
เคมีบำบัดสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิดหรือไม่
ยาเคมีบำบัด ไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด โดยปกติแล้วยาเคมีบำบัด 1 ตัวนั้นอาจมีฤทธิ์เฉพาะกับเซลล์มะเร็งบางชนิดเท่านั้น ทางการแพทย์จึงมีสูตรยาเคมีบำบัดหลายตัวเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งที่มีความหลากหลาย มะเร็งบางประเภทอาจต้องใช้ยาเคมีบำบัด 2 – 3 ชนิดร่วมกันเพื่อเสริมฤทธิ์ในการรักษา
ในช่วงระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมาสูตรยาเคมีบำบัดเหล่านี้ได้ผ่านการค้นคว้าทดลองปรับสูตรยาและกระบวนการรักษา จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ช่วยให้แพทย์รู้ว่าเมื่อคนไข้เป็นมะเร็งชนิดไหนต้องใช้สูตรยาเคมีบำบัดตัวใดในการรักษา และในขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็ยังคงค้นคว้าวิจัยหาสูตรตัวยา และเทคนิคการรักษาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้อัตราการรักษาโรคมะเร็งแล้วประสบความสำเร็จมีสูงขึ้นเรื่อยๆ
วิธีปฏิบัติตนเมื่อมีอาการข้างเคียง
• รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย
• รับประทานครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
• หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด มีไขมัน และของทอดทุกชนิด
• ทำความสะอาดปากและฟันหลังอาหารทุกมื้อ
• ถ้ารู้สึกคลื่นไส้ ให้พักผ่อนและสูดหายใจยาวๆ ลึกๆ ช้าๆ
• ควรรีบปรึกษาแพทย์ หากมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนมากตลอดวัน และรับประทานอาหารได้น้อยมาก
อาการข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น คลื่นไส้อาเจียน, ผมร่วง, แผลในปาก, ปริมาณเม็ดเลือดลดลง เป็นต้น อาการข้างเคียงที่ต้องปรึกษาแพทย์ เช่น มีเลือดออกหรือเป็นแผลในปากมาก, มีผื่นหรืออาการแพ้, มีไข้ หนาวสั่น, ปวดมากบริเวณที่ฉีด, หายใจลำบาก, ท้องเดินหรือท้องผูกอย่างรุนแรง, ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน
รับวิธีมือกับ 8 อาการข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด
1. ผมร่วง
• ควรตัดผมสั้นเพื่อสะดวกในการดูแล
• ใช้แชมพูสระผมชนิดอ่อนๆ เช่น แชมพูเด็ก และไม่ควรสระผมบ่อย
• ใช้แปรงที่มีขนนิ่มๆแปรงผม หรือหวีที่มีซี่ฟันห่างๆ และอย่าหวีผมบ่อย
• ห้ามไดร์ผม ดัดผม หรือย้อมผม
• ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนว่าควรต้องใช้วิกผมหรือไม่
• ควรเตรียมวิกผมไว้ล่วงหน้าก่อนผมร่วงหมด เพราะวิกผมที่เตรียมไว้จะเข้ากับรูปหน้าที่มีผมตาม ธรรมชาติมากกว่าซื้อวิกผมเมื่อผมร่วงมากแล้ว
2. แผลในปาก
• ใช้แปรงฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม และบ้วนปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ
• รับประทานอาหารอ่อนๆ
• อมน้ำแข็งบด จะช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น
3. ท้องเสีย
• รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกแล้ว
• ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย เช่น กล้วย
• รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย ครั้งละน้อยๆ
• หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น ถั่ว โซดา
• ควรงดดื่มนม ชา และกาแฟ ตลอดจนน้ำผลไม้ทุกชนิด
• ดื่มน้ำมากๆ เช่น น้ำอุ่นๆ น้ำชาอุ่นๆ เป็นต้น
• รับประทานยาแก้ท้องเสียตามคำสั่งแพทย์
4. ท้องผูก
• รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผัก และผลไม้ ข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ
• ดื่มน้ำมากๆ วันละไม่ต่ำกว่า 3 ลิตร อาจจะเป็นน้ำผลไม้ก็ได้
• ออกกำลังกายให้เพียงพอและสม่ำเสมอ
• ใช้ยาถ่าย หรือ ยาระบาย ตามคำสั่งแพทย์
5. ผิวหนังและเล็บ
• ยาบางชนิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง และเล็บ ผิวหน้าอาจมีฝ้าขึ้น หรือสีคล้ำ ผิวหนังแห้งเล็บมีรอยดำคล้ำ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นชั่วคราว
• หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจ้า ด้วยการสวมเสื้อแขนยาว ใช้ร่ม หรือสวมหมวก
• ทายากันแดดที่หน้า เพื่อป้องกันฝ้า
• ทาครีมหรือน้ำมันที่ผิวหนังเพื่อช่วยให้ชุ่มชื่น
6. การป้องกันการติดเชื้อ
• ยาเคมีบำบัดอาจทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วง 7-14 วัน หลังให้ยา
• ไม่ควรไปในที่ที่ฝูงชนแออัด เช่น ศูนย์การค้า ตลาดนัด โรงภาพยนตร์
• หลีกเลี่ยงให้ห่างจากคนที่เป็นโรคติดต่อ เช่น เป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด
• ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
• ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อประกอบด้วยมีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอ ไอมาก ควรรีบมาพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง
7. เพศสัมพันธ์
ยาเคมีบำบัดอาจมีผลกับอวัยวะสืบพันธ์ได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่ไม่เสมอไปซึ่งผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดได้นั้นขึ้นอยู่กับยาที่ผู้ป่วยได้รับ อายุ และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยเอง ในเพศชายยาเคมีบำบัดจะทำให้มีการผลิตอสุจิน้อยลง ขึ้นอยู่กับยาที่ได้รับแต่ผู้ป่วยก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติและสามารถมีบุตรได้โดยการเก็บอสุจิไว้กับธนาคารฯ ก่อนได้รับยาเคมีบำบัดโดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องเหล่านี้
ในเพศหญิงยาเคมีบำบัดจะมีผลทำให้บางคนมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ หรือขาดประจำเดือนช่องคลอดแห้ง เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ครีมหล่อลื่นช่วยนอกจากนี้ควรคุมกำเนิดในระหว่างรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพราะทารกในครรภ์อาจเกิดความผิดปกติได้
8. อารมณ์
ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดอาจมีอารมณ์แปรปรวนเนื่องจากกังวลต่อโรคที่เป็น และต่ออาการอันเกิดจากผลข้างเคียงของยา บางรายอาจมีความวิตกถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกด้วย ครอบครัว ญาติ และเพื่อน ควรมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการดูแลเอาใจใส่ และพูดคุยให้กำลังใจ เพื่อให้รู้สึกสบายใจ มีกำลังใจขึ้น และคลายความวิตกกังวล ไม่ควรท้อแท้ หรือหมดกำลังใจ และหยุดการรักษาโดยที่การรักษายังไม่ครบกำหนด ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการได้รับยาเพื่อบรรเทาอาการให้น้อยลง หรืออาจพิจารณาปรับแผนการรักษา ถ้าเกิดมีอาการรุนแรง อาการข้างเคียงที่เกิดไม่ได้หมายความว่าอาการของโรคมะเร็งเป็นมากขึ้น ความรุนแรงของอาการข้างเคียงก็ไม่มีความสัมพันธ์กับผลของยาเคมีบำบัดต่อเซลล์มะเร็ง
อย่างไรก็ตามอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะหายไปเมื่อสิ้นสุดการให้ยาเคมีบำบัด อาการข้างเคียงจะขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัดที่ได้รับ และปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาของร่างกายผู้ได้รับยาเคมีบำบัดนั้น โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเซลล์ปกติในร่างกายของเราถูกทำลาย ร่างกายจะเร่งสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน หลังจากให้ยาเคมีบำบัดแล้ว แพทย์จะให้ระยะเวลาคนไข้พักฟื้นประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ หรือรอจนกว่าจำนวนเม็ดเลือดขาว และสภาพร่างกายแข็งแรงพอจะรับยาเคมีบำบัดในครั้งต่อไป ซึ่งในกระบวนการรักษาโรคมะเร็งบางชนิดอาจต้องใช้การรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงและการผ่าตัด จนกว่าจะจบการรักษา ซึ่งยาเคมีบำบัดจะเข้าไปขัดขวางขบวนการเจริญเติบโตของวงจรชีวิตเซลล์ทำให้เซลล์ตาย เมื่อหยุดยาเซลล์เหล่านี้ก็จะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว การให้มีระยะพักระหว่างให้ยาแต่ละครั้งก็เพื่อให้เซลล์เหล่านี้ฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติ